วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561

คิดยกกำลังสอง ทักษะสำหรับโลกอนาคต


คิดยกกำลังสอง ทักษะสำหรับโลกอนาคต
การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และเป็นความท้าทายของเด็กในอนาคต เด็กยุคต่อไปต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทักษะที่สำคัญ  คือ ทำอย่างไรให้คนเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ดังนั้น ในศตวรรษที่ 21 การเรียนแบบท่องจำและการเรียนเพื่อรู้ แต่ข้อมูล (information) เพียงอย่างเดียวจะมีประโยชน์น้อยลงทุกที หรือเรียกได้ว่า 1i ไม่เพียงพอแต่ต้องปรับเป็น 4i ทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนต้องเกิดสิ่งเหล่านี้กับตัวของเขาเอง ซึ่งประกอบด้วย
1. จินตนาการ (Imagination) หมายถึงความสามารถในการสร้างภาพในสมอง ซึ่งภาพเหล่านี้ไม่ได้รับรู้ผ่านการมองเห็น การได้ยิน หรือผ่านวิธีการรับรู้อื่น ๆ จินตนาการถือได้ว่าเป็นตัวช่วยสำคัญในการนำความรู้ไปใช้งานจริง และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และยังเป็นรากฐานในการรวมประสบการณ์และกระบวนการเรียนรู้เข้าด้วยกัน
2. แรงดลใจ (Inspiration) หมายถึง พลังอำนาจในตนเองชนิดหนึ่ง ที่ใช้ในการขับเคลื่อนการคิดและ การกระทำใดๆที่พึงประสงค์ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้ตามต้องการไม่ว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นจะยากสักเพียงใด ตนก็พร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรค์ทั้งหลายสู่ความสำเร็จที่ต้องการให้จงได้ แม้จะต้องเสียสละบางสิ่งของตนเองไปบ้าง ก็พร้อมที่จะเสียสละได้เสมอ ถ้าจะช่วยนำมาซึ่งผลสำเร็จที่ต้องการนั้นได้จริง ๆ
3. ความเข้าใจลุ่มลึก (Insight) หมายถึง บุคคลเมื่อได้เห็นข้อมูลจำนวนมากๆ แล้วสามารถสังเคราะห์ข้อมูลจนมีความเข้าใจด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง
4. เกิดญานทัศน์ (Intuition) หมายถึง เป็นการเข้าถึงสภาวะจิตใจที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปัญญาญาณเป็นส่วนที่เป็นจิตเหนือสำนึก เป็นเรื่องของการหยั่งรู้ เป็นการรับรู้แบบปิ๊งแว้บ เป็นการรู้ที่ก้าวข้ามตรรกะและเหตุผลทักษะแห่งโลกอนาคตหรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21ที่ต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนนั้นมีองค์ประกอบ ซึ่งใช้ตัวย่อว่า ASK มีรายละเอียด ดังนี้
1. A (Attitude) เป็นเรื่องของทัศนคติ อุปนิสัยความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน
2. S (Skill) เป็นเรื่องของทักษะ ทักษะการสื่อสาร ทักษะในการเรียนรู้ ทักษะการทำงานต่างๆ มีความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ
3. K (Knowledge) เป็นเรื่องของความรู้ การคิดเชิงวิพากษ์ และการเรียนรู้จากหลายๆ แหล่ง
ปัจจุบัน สถานศึกษาต่างๆ ให้ความสำคัญกับตัว K หรือ ตัวความรู้มากไปหน่อย ควรให้ความใส่ใจกับเรื่องของ A(Attitude) และ S (Skill) ให้มากขึ้น ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนแปลงโดยให้ผู้เรียนมีบทบาทมากขึ้นหรือให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในลักษณะของ Active Learning การสอนโดยการ Lecture หรือให้ผู้เรียนนั่งฟังอย่างเดียว มีผลการศึกษา พบว่า ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ไม่เกินร้อยละ 20 ถ้าสอนโดยการเล่นจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ร้อยละ 20-75แต่ถ้าจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนได้ลงมือทำหรือปฏิบัติด้วยตนเองจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากกว่าร้อยละ75 ขึ้นไป สถานศึกษาต้องบริหารจัดการเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ต้องเรียนรู้แบบฉลาดขึ้นหรือ Smart ขึ้น
         ดังนั้น ห้องเรียนต้องเปลี่ยนไป ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนและสิ่งแวดล้อมภายนอกห้องเรียนซึ่งรวมหมายถึงสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไป
กล่าวโดยสรุป โลกใบใหม่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เด็กในโลกอนาคตต้องเตรียมการทำงานที่ยังไม่มี ใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่เกิด เพื่อการแก้ปัญหาที่ยังไม่รู้ การสร้างทักษะโลกอนาคต โลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยการเรียนรู้จากการ “ทำ” หรือ “การลงมือปฏิบัติจริง” และต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายจึงเป็นคำพูดที่ไม่ผิดนักสำหรับทักษะของโลกอนาคตจะเกิดขึ้นและเป็นจริงได้ บุคคลที่สำคัญบุคคลหนึ่งคือ ผู้บริหารสถานศึกษา และทักษะเพื่อความสำเร็จของผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่21ที่ต้องเกิดขึ้นตามแนวคิดของวิโรจน์ สารรัตนะ (2556: 75-77) มีรายละเอียด ดังนี้
1. ความคาดหวังสูง (high expectation) ผู้นำสถานศึกษาที่มีวิสัยทัศน์จะมุ่งความสำเร็จของผู้เรียนทุกคนและจะใช้ความพยายามเพื่อให้บรรลุผลในความเชื่อนั้น ผู้เรียนจะถูกท้าทายด้วยหลักสูตรที่มีลักษณะเข้มงวด (rigorous curriculum)ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อความก้าวหน้า หรือกับรายวิชาที่ไม่คุ้นเคย การมุ่งศึกษาในระดับวิทยาลัยและการศึกษาต่อเนื่องอย่างจริงจัง
2. ให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมายพื้นฐาน (a focus on the fundamentals) สถานศึกษาเป็นแหล่งการเรียนรู้(learning) จึงเป็นจุดมุ่งหมายพื้นฐาน เป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทุกสิ่งทุกอย่างจึงมุ่งการบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น
3. ความสามารถพิเศษในการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ (a talent for collaborative problem solving) ความร่วมมือนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และความสำเร็จของผู้บริหารสถานศึกษาที่ฉลาดจะสร้างความเป็นหุ้นส่วนให้เกิดขึ้นในทุกระดับของสถานศึกษาเพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาและแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ มาใช้
4. มีจิตมุ่งสร้างสรรค์ (an inventive mind) ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ทั้งในการเรียนรู้ของผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตร การประเมินผล การงบประมาณ และอื่นๆ จนกล่าวได้ว่า เป็นผู้นำในแถวหน้าในเรื่องเทคโนโลยี
5. ความสามารถในการแปลความข้อมูล (the ability to read data’s story) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องรู้คุณค่าของข้อมูลที่ดีและนำมาใช้เพื่อพัฒนาสถานศึกษา สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้รวดเร็ว นำสู่การปฏิบัติ และประเมินผลเพื่อวัดผลสำเร็จ
6. ความสามารถในการบริหารเวลาและความใส่ใจ (a gift for directing time and attention) ผู้นำสถานศึกษาในปัจจุบันและในอนาคตจำเป็นต้องมีการบริหารเวลา (time management) และการมอบอำนาจ (delegation) เนื่องจากสถานศึกษามีภารกิจมากมาย ทั้งงบประมาณ บุคลากร ผู้เรียนและครอบครัว การพัฒนาวิชาชีพ เทคโนโลยี และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทุกกรณีต้องทำด้วยใจรัก(with heart) ที่มุ่งสู่ความสำเร็จของผู้เรียนนอกเหนือจากทักษะสำหรับโลกอนาคตที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีแล้ว ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องปรับบทบาทตนเองให้เป็นผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21ต้องมีคุณลักษณะที่โดดเด่นและบทบาทในการบริหารการเปลี่ยนแปลงให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติในอนาคตบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย
1. ผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21 กำหนดให้มีการกำกับดูแลด้านการบูรณาการการเรียนการสอนต่อการประยุกต์นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ และการประเมินผลได้แก่ การให้คำแนะนำแนวคิดใหม่ๆ สำหรับครูผู้สอนเกี่ยวกับการใช้ห้องเรียนที่มีประสิทธิผล การสนับสนุนให้การเรียนการสอนสอดคล้องกับปัจจัยภายในและภายนอกโรงเรียน
2. การนำรูปแบบทางดิจิตอลมาสนับสนุนการเรียนการสอนของครูเพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้แก่ นำไปใช้ในห้องเรียนเพื่อส่งเสริมให้ครูและผู้เรียนใช้เครื่องมือทางดิจิตอลอย่างมีประสิทธิผลและใช้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประเมินความพร้อมของสถานศึกษาที่จะนำทักษะทางดิจิตอลมาใช้งาน
3. ให้โอกาสครูได้พิจารณาไตร่ตรอง กำหนดจุดมุ่งหมายและการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมืออาชีพในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงแล้วสามารถนำมาเป็นโอกาส ได้แก่ ให้ครูกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยด้านหลักสูตร ด้านการเรียนการสอน และด้านการประเมิน และให้นำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ครูได้เรียนรู้อย่างมืออาชีพได้อย่างแท้จริง
4. จัดสภาพแวดล้อมบนพื้นฐานยึดการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และความรู้สึกที่ดีต่อชุมชน ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาเพื่อสนับสนุนการสอนและการเรียนรู้ด้านทักษะในศตวรรษที่ 21กำหนดให้จัดสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือยืดหยุ่นภายในสถานศึกษาและชุมชนนอกจากนี้ควรเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ด้านโลกให้มากขึ้น และออกแบบทางสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มโอกาส การพัฒนาทักษะการคิดทักษะชีวิต และทักษะอาชีพและเตรียมผู้เรียนสำหรับการทำงานในอนาคตไปพร้อมๆ กันในอีกทัศนะหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในศตวรรษที่ 21ประกอบด้วย
1. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารต้องมีทักษะและความสามารถในการบริหารความเปลี่ยนแปลงให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้บริหารจึงมีการใช้ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์และการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ตระหนักถึงศักยภาพของสถานศึกษาต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
2. เป็นนักแก้ปัญหา ผู้บริหารต้องนำยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมและเหตุการณ์มาใช้เป็นฐานในการแก้ปัญหาต่างๆ ในองค์กร ผู้บริหารควรมีการศึกษารายละเอียดของเหตุการณ์ มีการทดสอบสมมติฐาน การวิเคราะห์ การแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ โดยคำนึงถึงการบรรลุผลในวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของสถานศึกษาเป็นหลัก
3. เป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล ที่สนับสนุนต่อการพัฒนาการสอนและผลลัพธ์การเรียนรู้ในโรงเรียน คือ ผู้นำต้องนำโดยยึดหลักคุณธรรมในการบริหาร มีความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นผู้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งต้องเป็นผู้นำทางวิชาการและเป็นผู้สนับสนุนไปพร้อมๆ กัน
กล่าวโดยสรุป ทักษะสำหรับโลกอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในส่วนของตัวผู้เรียนและในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษาด้วยการบริหารจัดการในอำนาจหน้าที่ของตนเองเพื่อผลักดันให้ครูผู้สอนเข้าใจบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปให้ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 สนับสนุนการพัฒนาครูผู้สอนอย่างต่อเนื่องสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ การจัดสภาพแวดล้อมภายในสถานศึกษาเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มากที่สุดทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมด้านจิตวิทยา และสิ่งแวดล้อมของชุมชนสังคม ผู้บริหารจึงยังมีบทบาทสำคัญใน
การผลักดันให้ผู้เรียนเกิดทักษะสำหรับโลกอนาคตที่เป็นจริงต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น