วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561

บทที่ 2 ทฤษฎีหลักสูตร


บทที่ 2
ทฤษฎีหลักสูตร

Ø มโนทัศน์(Concept)
ทฤษฎีหลักสูตรสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ  ประกอบด้วยทฤษฎีการออกแบบหลักสูตร(curriculum design) และทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร(curriculum engineering) ซึ่งเป็นสาขาวิชาย่อยของสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ โดยสาขาวิชาศึกษาศาสตร์มีที่มาจากการจัดกลุ่มความรู้  3 กลุ่มหลัก คือ 
1.วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (the natural sciences) 
2.สังคมศาสตร์  (the social sciences) 
3. มนุษย์ศาสตร์ (the humanities) 
โดยที่สาขาวิชาต่างๆมีที่มาจากความรู้ทั้งสามกลุ่มอาทิแพทย์ศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์  สถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงศึกษาศาสตร์ เป็นต้น

Ø ผลการเรียนรู้(Learning Outcome)
1. มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับทฤษฎีหลักสูตร
2. สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

Ø สาระเนื้อหา(Content)
ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตร
การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาระบบสังคม การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ได้ในชีวิตของผู้เรียนและสามารถนำความรู้ที่ได้รับนั้นไปทำประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลักสูตรจัดเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาศึกษา มีการผสมผสานมโนทัศน์ความคิดรวมยอดเกี่ยวกับแนวทางและความเป็นไปได้ของการจัดการศึกษาที่มีระบบ และได้นำทฤษฎีทางการศึกษามาปรับประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการจัดการศึกษา ซึ่งจะสะท้อนคุณค่าของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละสังคมด้วยทฤษฎีหลักสูตร เนื้อหาสาระในบทนี้กล่าวถึงทฤษฎีหลักสูตร การสร้างทฤษฎีหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร หลักการพัฒนาหลักสูตร การวางแผนพัฒนาหลักสูตร และกระบวนการพัฒนาหลักสูตร
1. ทฤษฎีหลักสูตร
ทฤษฎีต่างๆ เกิดจากข้อเท็จจริงซึ่งค้นพบได้จากการใช้การพิสูจน์ และการใช้ข้อสรุปจากกฎที่ตั้งไว้จากการสังเกต มิใช่อาศัยเหตุและผลและนำมาสรุปไว้เป็นกฎและหลักการ ทฤษฎีเกี่ยวกับการสังเคราะห์และนำไปสู้การสร้างกฎที่ใช้ได้ทั่วไป มีความเป็นสากล (Universal) สามารถพิสูจน์ทดลองได้ (Testable) และมีส่วนประกอบ (Element) ที่เหมือนกัน ทฤษฎีทำหน้าที่ อธิบาย และความหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่มีระเบียบแบบแผน นำไปสู่การคาดคะเนข้อมูลได้โดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ และนำไปสู้การยืนยันว่าทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมีความถูกต้องและน่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
Smith and others (1957) มีความเชื่อว่าทฤษฎีหลักสูตรจะช่วยสร้างและให้เหตุผลที่สนับสนุนทางการศึกษา เพื่อประกอบการเลือกและจัดหาเนื้อหาที่ต่างกันของผู้เรียน นักพัฒนาหลักสูตรจึงได้นำทฤษฎีหลักสูตรมาใช้โดยการผสมผสานทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเข้ามาไว้ด้วยกัน กำหนดขึ้นเพื่อการนำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎีหลักสูตรจึงเป็นการพิจารณาความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ที่สามารถนำมาปรับใช้การวางแผนและพัฒนาหลักสูตร รวมถึงการจัดและแยกประเภทของเหตุการณ์ต่างๆ และโยงความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ พิจารณาโครงสร้างและเนื้อหาวิชาที่เหมาะสมนำมาบรรจุไว้ในหลักสูตร คำนึงถึงความสอดคล้องตามสภาพการณ์ต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้เรียนและในส่วนของสังคม (Kelly.1995)        
Beauchamp (1981) ได้สรุปว่า ทฤษฎีเป็นข้อความที่ช่วยขยายขอบเขตความรู้ของมนุษย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นเครื่องมือของมนุษย์ซึ่งใช้ในการทำนายและคาดการณ์สิ่งต่างๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นทำให้มนุษย์สามารถควบคุมปรากฏการณ์ หรือป้องกันแก้ไขเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์ชาติในที่สุดทฤษฎีหลักสูตร จึงเป็นการผสมผสานข้อความเพื่อให้ความหมายซึ่งนำไปปฏิบัติในโรงเรียน โดยการชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบและการชี้แนะให้เห็นวิธีการพัฒนา
ทฤษฎีหลักสูตรเป็นคำอธิบายสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับการใช้หลักสูตร การสร้างหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร การประเมินผลหลักสูตร และการนำผลที่ได้รับจากการประเมินผลมาปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร (Kelly.2009) โดยเน้นการบรรยายถึงสิ่งต่างๆ ที่แสดงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างจุดมุ่งหมายกับเนื้อหาวิชา ระหว่างเนื้อหาวิชาและโครงสร้างของหลักสูตรทั้งหมด ปรัชญาต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการวางจุดมุ่งหมาย สภาพความจริงในสังคม และบทบาทของการศึกษาในสังคม (Gardner and others.2000) โดยสภาพความจริงแล้วทฤษฎีและปฏิบัติมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทฤษฎีจะอธิบายให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งการปฏิบัติจะดำเนินการอยู่ภายในขอบเขตของทฤษฎีที่กล่าวไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือทฤษฎีจะเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางของการปฏิบัตินั้นเอง โดยเหตุนี้ทฤษฎีจึงเป็นของคู่กันและจะต้องไปด้วยกันในการสนับสนุนการปฏิบัติงานให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย
2. การสร้างทฤษฎีหลักสูตร
Beauchamp (1981:77) ได้เสนอว่าทฤษฎีหลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือทฤษฎีการออกแบบหลักสูตร (Design  theories)  และทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร  (Engineering  theories) 
2.1 ทฤษฎีการออกแบบหลักสูตร
การออกแบบหลักสูตร(Curriculum design) หมายถึง การจัดส่วนประกอบหรือองค์ประกอบของหลักสูตรซึ่งได้แก่ จุดมุ่งหมาย  เนื้อหา สาระ กิจกรรมการเรียนและการประเมินผล  (Zais.1976:16)  Herrick  and Tyler (1950:41)  ได้เสนอแผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของหลักสูตรดังภาพ 4.1

                                                                  การประเมินผล
                                   ภาพประกอบ  ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของหลักสูตร

Taba (1962:422) มีความเห็นว่าส่วนประกอบของหลักสูตรที่จะขาดเสีย มิได้ก็คือจุดมุ่งหมายทั่วไปและจุดมุ่งหมายเฉพาะเนื้อหาสาระและประสบการณ์การเรียนรู้และกาประเมินผล  Beauchamp (1975:107-109) ได้สรุปองค์ประกอบสำคัญซึ่งจะต้องเขียนไว้ในเอกสารหลักสูตร 4 ประการ คือ เนื้อหาสาระและวิธีการจัด จุดมุ่งหมายทั่วไปและจุดมุ่งหมายเฉพาะแนวทางการนำหลักสูตรไปใช้สู่การเรียนการสอน และการประเมินผลซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับหลักสูตร 
Zais (1976:431-437) ได้สรุปว่าการออกแบบหลักสูตร ประกอบด้วยแนวคิดหลักสูตร  2  แบบคือ  หลักสูตรแห่งความหลุดพ้น (Unencapsulation design) และหลักสูตรมนุษยนิยม (Humanistic  design) หลักสูตรแห่งความหลุดพ้นมีความเชื่อว่าคนเราจะมีความรู้ความเข้าใจสิ่งต่างๆ  4  ทางได้แก่ความมีเหตุผล  (Rationalism)  จะนำไปสู่การค้นพบความจริงการสังเกต  (Empiricism)  รับรู้จากการมอง  การได้กลิ่น  การได้ยิน  การได้สัมผัส  ฯลฯ  สัญชาตญาณ  (Intuition)  ความรู้สึกต่อสิ่งหนึ่งโดยมิได้มีใครบอกกล่าวก็เป็นวิธีหนึ่งที่มนุษย์มีความรู้ในสิ่งต่างๆ และความเชื่อในสิ่งที่มีอำนาจ  (Authoritarianism)  เช่น 
ความเชื่อในทางศาสนา  ความเชื่อในสิ่งที่ปราชญ์ผู้รู้ได้กล่าวไว้  เป็นต้น  ส่วนหลักสูตรมนุษยนิยมก็มีความคล้ายคลึงกับหลักสูตรเพื่อความหลุดพ้นแต่การจัดหลักสูตรแบบนี้จะมุ่งเน้นเนื้อหา สาระมากกว่ากระบวนการการจัดหลักสูตรจึงยึดเนื้อหาสาระของวิชาเป็นศูนย์กลาง
2.ทฤษฎีวิศวกรรมหลักสูตร
วิศวกรรมหลักสูตร  (Curriculum engineering) หมายถึงกระบวนการทุกอย่างที่จำเป็นในการทำให้ระบบหลักสูตรเกิดขึ้นในโรงเรียนได้แก่ การสร้างหรือจัดทำหลักสูตร การใช้หลักสูตร และการประเมินประสิทธิภาพของหลักสูตรและการประเมินระบบหลักสูตร (Beauchamp.1975:108) หลักสูตรที่มีคุณภาพและสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ถึงผู้เรียนได้มากที่สุดนั้นมีอยู่หลายรูปแบบได้แก่ รูปแบบการบริหาร รูปแบบการปฏิบัติการ รูปแบบการสาธิต รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติ และรูปแบบการใช้คอมพิวเตอร์เป็นฐานสำหรับการกำหนดหลักสูตร 
ทฤษฎีหลักสูตรจะช่วยในการบริหารงานเกี่ยวกับหลักสูตรมี หลักเกณฑ์ หลักการ และระบบมากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร และการประเมินหลักสูตรการจัดบุคลากร  เกี่ยวกับหลักสูตร การทำให้องค์ประกอบของหลักสูตรที่จะนำไปใช้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
3.  การพัฒนาหลักสูตร
การพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวข้องกับการพิจารณาและการกำหนดเป้าหมายว่าหลักสูตรที่จัดทำนั้นมีเป้าหมายเพื่ออะไร ทั้งโดยส่วนรวมและส่วนย่อยของหลักสูตรนั้นๆ อย่างชัดเจนการคัดเลือกกิจกรรม วัสดุประกอบการเรียนการสอน การเลือกสรรเนื้อหาสาระ กิจกรรมทั้งในทั้งนอก  ห้องเรียน การกำหนดระบบการจัดวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนที่เหมาะสมแต่ละวิชาและแต่ละชั้นเรียน
การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนของการตัดสินใจเลือกหาทางเลือก การเรียนการสอนที่เหมาะสม หรือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมต่างๆ เข้าด้วยกันจนเป็นระบบที่สามารถปฏิบัติได้ นักพัฒนาหลักสูตรต้องคำนึงถึงภูมิหลักขององค์ประกอบต่างๆ อย่างละเอียด และรอบคอบก่อน ตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง และเมื่อตัดสินใจเลือกแล้วก็ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ การพัฒนาหลักสูตรมีข้อควรคำนึงหลายประการที่นักพัฒนาหลักสูตรต้องหาคำตอบ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจจัดทำหลักสูตร Tyler (1949) ได้กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้
        1. จุดมุ่งหมายการศึกษาของโรงเรียน คืออะไร?
        2. การที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายของการศึกษาของโรงเรียนนั้น ต้องใช้ประสบการณ์การศึกษาอะไร?
        3. ประสบการณ์การศึกษาดังกล่าวจะจัดอย่างไร?
        4. คุณภาพของหลักสูตรได้มาอย่างไร?
สำราญ คงชะวัน (2456: 13-14) ได้สรุปว่าการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการวางแผนและพัฒนาประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน การเลือกจุดมุ่งหมายเนื้อหาวิชา กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ ตลอดจนการวัดผลประเมินผล เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน (Marsh and Willis. 1995:129)
การพัฒนาหลักสูตรเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ระยะเวลา ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความหมายเหมาะสมโดยอาจปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่โดยที่ยังไม่เคยมีหลักสูตรนั้นมาก่อนก็ได้ ซึ่งผู้พัฒนาสามารถดำเนินการได้ทุกระยะเวลา และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความเหมาะสม และกระบวนการวางแผนและพัฒนาประสบการณ์ในการเรียนรู้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน


บุญชม ศรีสะอาด (2546: 21-46) ได้กล่าวถึงแนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาหลักสูตรว่าต้องอาศัยพื้นฐานที่สำคัญ 5ประการ ดังนี้
1. พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ (Historical foundation) อิทธิพลขอพื้นฐานดังกล่าวมี  2 ลักษณะ
              - หลักสูตรที่พัฒนา มีความรู้ ผลการค้นพบ และแนวปฏิบัติที่เคยมีมาในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร
              - ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการจัดการศึกษาในอดีตเป็นบทเรียนในการสร้างหลักสูตรใหม่
2.  พื้นฐานทางปรัชญา (Philosophical foundation) ปรัชญามีส่วนในการสร้างหลักสูตร เนื่องจากปรัชญามีส่วนในการช่วยกำหนดจุดประสงค์และการจัดการสอน ซึ่งมีแนวปรัชญาต่างๆ มากมาย
- ปรัชญาสารัตถะนิยม (Essentialism) เชื่อว่าแต่ละวัฒนธรรมมีความรู้ ความเชื่อ ทักษะ อุดมการณ์ที่เป็นแกนกลาง หลักสูตรที่จัดตามแนวนี้ได้แก่ หลักสูตรแบบเนื้อหาวิชา (Subject curriculum) และแบบสหสัมพันธ์ (Broadfields curriculum)
- ปรัชญาสัจนิยม (Perenialism) เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความสามารถในการใช้ความคิด ความสามารถในการใช้ความคิด ความสามารถในการใช้เหตุผล การตัดสินแยกแยะ และความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า การจัดหลักสูตรจึงเน้นความสำคัญของวิชาพื้นฐานได้แก่ การอ่าน เขียน และการคิดคำนวณ
- ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) เชื่อว่าผู้เรียนจะเรียนรู้ได้โดยอาศัยประสบการณ์ ผู้สอนแบบประสบการณ์หรือกิจกรรม (Experience or activitycurriculum)
- ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) เน้นเรื่องชีวิตและสังคม ได้แก่ หลักสูตรที่ยึดหลักสังคมและการดำรงชีวิต (Social process and life function curriculum) และหลักสูตรแบบแกน (Core curriculum)
- ปรัชญาสวภาพนิยม (Existentialism) เชื่อว่าแต่ละคนกำหนดของชีวิตของตนเองได้แก่ หลักสูตรแบบเอกัตภาพ (individualized) เน้นการให้เสรีแก่ผู้เรียนมากที่สุด
3. พื้นฐานจากสังคม (Sociogical foundation) หลักสูตรได้รับอิทธิพลจากสังคมมากที่สุด สมาชิกในสังคมเป็นผู้สร้างและพัฒนาโรงเรียน รากฐานทางสังคมที่มีต่อการสร้างหรือพัฒนาหลักสูตรและการเปลี่ยนแปลงของสังคมก็มีผลทำให้หลักสูตรต้องเปลี่ยนแปลงด้วย
4. พื้นฐานจากจิตวิทยา (Psychologial foundation) จิตวิทยามีส่วนสำคัญต่อการสร้างหลักสูตรและการสอน โดยเฉพาะจิตวิทยาพัฒนาการและจิตวิทยาการเรียนรู้
4.จิตวิทยาพัฒนาการ การที่จะช่วยให้แต่ละบุคคลมีพัฒนาการที่เหมาะสมที่ใช้เป็นแนวทางในการวางแผนหลักสูตร ได้แก่ พื้นฐานทางชีววิทยาของความแตกต่างระหว่างบุคคล วุฒิภาวะทางกาย พัฒนาการ และ สัมฤทธิ์ผลทางสติปัญญา พัฒนาการทางด้านอารมณ์ และ พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งผลการวิจัยของนักทฤษฎีพัฒนาการHevighurst development theory กล่าวว่า งานพัฒนาการแต่ละวัยนั้น ถ้าหากประสบความสำเร็จในการพัฒนาในงานใด ก็จะทำให้มีความสุขและส่งผลต่อความสำเร็จในงานต่างๆ มาก ทฤษฎีพัฒนาการ Eriksons psychosocialtheory ที่เชื่อว่าพัฒนาการแต่ละชั้นถ้าได้รับการส่งเสริมตามต้องการจะเกิดความพึงพอใจและมั่นใจ สามารถพัฒนาการขั้นตอนต่อไปได้อย่างสมบูรณ์เป็นผลให้มีบุคลิกภาพดี แต่ถ้าขั้นใดไม่ได้รับการส่งเสริมจะเกิดความคับข้องใจเกิดความไม่พึงพอใจและเป็นผลเสียต่อบุคลิกภาพ ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา Cognitive development theory ที่เน้นพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งถึงวัยที่มีสติปัญญาอย่างสมบูรณ์
4.จิตวิทยาการเรียนรู้ ทฤษฎีจิตวิทยาการเรียนรู้เป็นพื้นฐานสำคัญของเนื้อหาหลักสูตรและกิจกรรมการสอน ทฤษฎีที่สำคัญ ได้แก่
- ทฤษฎีที่เน้นการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง (S-Rcondition) ได้แก่ ทฤษฎีการเสริมแรง และทฤษฎีเงื่อนไข นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ Pavlov Thorndike และ Skinner
- ทฤษฎีสนาม (Field theory) แนวคิดของทฤษฎีนี้คือ ส่วนรวมทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญมากจะต้องมาก่อนส่วนย่อย ทฤษฎีที่สำคัญของกลุ่มนี้คือ ทฤษฎีพุทธินิยม และทฤษฎีมนุษย์นิยม
- ทฤษฎีผสมผสาน (lntegrated theory) มีแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญคือ การศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้ การผสมผสานระหว่างทฤษฎีเชื่อมโยงสิ่งเร้ากับการตอบสนองและทฤษฎีสนาม
- ทฤษฎีการเรียนรู้ในโรงเรียนของ Bloom เป็นทฤษฏีที่เน้นพื้นฐานเดิมของผู้เรียน และ คุณลักษณะของแต่ละคน
              5. พื้นฐานจากวิชาการความรู้ต่างๆ (Disciplines of knowledge foundations) ความรู้ของวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งความรู้ทางอาชีพ เป็นรากฐานของการเรียนรู้ของผู้เรียน การสร้างหลักสูตรจึงต้องมุ่งให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมโนทัศน์ (Concept) และวิธีการของวิชานั้นๆ
             
นักวิทยาการด้านหลักสูตรหลายท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรไว้หลายรูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งรูปแยกการพัฒนาหลักสูตรแต่ละรูปแบบ ไม่ว่าเป็นการพัฒนาหลักสูตรใหม่หรือการนำหลักสูตรเก่ามาพัฒนา  ประกอบด้วยขั้นตอนที่คล้ายคลึงกันพอสรุปเป็นขั้นตอน (ยุทธนา ปฐมวรชาติ. 2545 : 15-18 ; Saylor and Aleylor and Alexander. 1974 : 6) ดังนี้ การออกแบบและการสร้างหลักสูตร (การกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตร การจัดทำรายละเอียดเนื้อหาสาระการเรียนรู้ การกำหนดแนวทางการจัดประสบการณ์เรียนรู้กำหนดเวลา (การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินหลักสูตร Tyler (1949 : 1) ได้กำหนดกระบวนการวางแผนหลักสูตรและให้ข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้บังเกิดผลดีต่อผู้เรียน โดยเสนอแนะว่าสิ่งที่ต้องคำนึงในการวางแผนหลักสูตร อะไรคือจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่ต้องการให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาปฏิบัติทำอย่างไรจึงจัดประสบการณ์การศึกษาให้สอดคล้องกับจุดหมายมุ่งกำหนดไว้ทำอย่างไรจึงจะจัดการประเมินประสบการณ์การศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ?
              Taba (1962 : 345-425) ได้เสนอรูปแบบการวางแผนกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนตามความเชื่อเกี่ยวกับผู้เรียนที่มีพื้นฐานแตกต่างกันโดยกำหนดกระบวนการวางแผนพัฒนาหลักสูตรไว้ 7 ขั้นตอนดังนี้
1. การวินิจฉัยความต้องการของผู้เรียน ต้องเริ่มจากการค้นหาความต้องการของผู้เรียนโดยวิเคราะห์ช่องว่าง จุดบกพร่องและหลังของผู้เรียน
2. การกำหนดจุดมุ่งหมาย หลังจากวิเคราะห์หาความต้องการของผู้เรียนแล้ว ผู้วางแผนพัฒนาหลักสูตร ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายที่ต้องการ โดยใช้คำว่าเป้าหมายหรือจุดหมาย
3. การเลือกเนื้อหา เนื้อหาที่กำหนดในแต่ละหัวข้อจะต้องมาจากจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
4. การเรียงลำดับเนื้อหา การเลือกเนื้อหาในแต่ละหัวข้อ จะต้องตัดสินใจว่าจะจัดลำดับเนื้อหาอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับวุฒิภาวะ ความพร้อม และผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
5. การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ ผู้วางแผนหลักสูตรจะต้องเลือกหรือกำหนดวิธีการที่จะทำให้ผู้เรียนรู้เนื้อหาที่กำหนดไว้
6. การเรียงลำดับประสบการณ์การเรียนรู้ ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องหาวิธีการที่จัดและเรียงลำดับให้กิจกรรมการเรียนรู้ผสมกลมกลืนกันอย่างมีประสิทธิภาพ
7. การกำหนดรู้แบบการประเมินผลและแนวทางในการปฏิบัติตามจุดมุ่งหมาย ซึ่งผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงการบรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น รู้แบบการประเมินที่ดี คือ การที่ครูผู้สอนใช้

Stenhouse (1975 : 4-5) ได้เสนอหลักการวางแผนการพัฒนาหลักสูตรไว้ 4 ประการ ดังนี้
1. การเลือกเนื้อหา (Selec tof cotent) เป็นการคัดเลือกเนื้อหาสาระที่จะใช้ในการจัดการเรียนรู้ในหลักสูตร
2. การกำหนดยุทธวิธีการสอน (Teaching strategy) เป็นการกำหนดว่าจะทำวิธีการสอนด้วยวิธีใดและมีกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยกระบวนการใด
3. การเรียงลำดับเนื้อหา (Make decisionse about seqence) เป็นการนำเนื้อหาที่กำหนดในหลักสูตร มาเรียงลำดับก่อนหลังอย่างเหมาะสมในการจัดการเรียนรู้
4. การพิจารณาจุดอ่อนจุดแข็งของผู้เรียนรายบุคคลและหลักการที่กำหนดมาแล้ว (Diagnose the strengths and weakness of individual students and general principles)
             
ชูศรี สุวรรณโชติ (2542: 97-99) ได้หาแนวคิดกระบวนการวางแผนการพัฒนาหลักสูตรไว้ ดังนี้
1. การศึกษาปัญหาหรือกำหนดปัญหา เป็นขั้นแรกของการวางแผนเพื่อพัฒนาหลักสูตรซึ่งผู้พัฒนาหลักสูตรต้องรู้ถึงสภาพปัญหาและความต้องการของสังคมในทุกๆ ด้าน
2. การกำหนดข้อมูลเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหา เป็นสิ่งที่ช่วยในการวางแผนพัฒนาหลักสูตรให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้องแน่นนอน ข้อมูลที่กำหนดจะต้องเป็นข้อมูลที่สนองตอบปัญหาที่ได้รับจากการศึกษา
3. การกำหนดสมมุติฐาน การวางแผนพัฒนาหลักสูตรทุกครั้งต้องกำหนดสมมุติฐานไว้เสมอว่า หลักสูตรจะต้องพัฒนาจะบังเกิดผลอย่างไรต่อผู้เรียน สมมุติฐานของการพัฒนาหลักสูตรจะเป็นทางบวกมากกว่าทางลบ
4. การกำหนดแนวทางในการดำเนินงานเป็นขั้นตอนที่ต้องกำหนดการพัฒนาหลักสูตรโดยกำหนดกระบวนการตั้งแต่ต้นจนสำเร็จลุล่วง ขั้นตอนเหล่านี้ต้องกำหนดเวลาที่แน่นอน
5. การเลือกบุคลากรมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตร ผู้กำหนดแผนต้องกำหนดตัวบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นเป็นอย่างดี
4. การพัฒนาหลักสูตรระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การเรียนการสอนจะดำเนินไปตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหารและครูผู้สอนจะต้องรู้ถึงหลักการของหลักสูตรและวิธีใช้ ด้วยการรู้หลักการจะช่วยให้ครูผู้สอน อ่านหลักสูตรได้เข้าใจและดียิ่งขึ้นหลักสูตรแบ่งตามแบบต่างๆ
1. หลักสูตรระดับชาติหรือหลักสูตรแม่บท (Nationai level) เป็นหลักสูตรแกนที่เขียนไว้กว้างและบรรจุสาระที่จำเป็นต่อทุกคนในประเทศที่จะต้องเรียนรู้เหมือนกัน เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไว้ หลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจึงเน้นเป็นวิชาบังคับให้ทุกคนต้องเรียนการพัฒนา      
2. หลักสูตรระดับชาติมีหน่วยงานที่พัฒนาหลักสูตร คือ สูตรพัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์นี้มีหน้าที่ประสานงานในการบรับปรุงหลักสูตรทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หลักสูตรระดับท้องถิ่น (Local level) เป็นการนำเอาหลักสูตรระดับชาติมาใช้พิจารณาถึงลักษณะของท้องถิ่นเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะพิเศษของแต่ละท้องถิ่นและลักษณะของผู้เรียนและเป็นการเรียนรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตจริง
3. หลักสูตรระดับห้องเรียน (Classroom level) สังคมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลักสูตรระดับนี้ ผู้สอนส่วนมากมักเข้าใจผิดมักคิดว่าตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรแต่จริงแล้วผู้สอนนำเอาหลักสูตรระดับชาติและระดับท้องถิ่นมาใช้ให้เหมาะสมและบรรลุจุดมุ่งหมายตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ ผู้สอนแต่ละคนในวิชาต่างๆ ก็จะทำให้กระบวนการพัฒนาหลักสูตรเกิดขึ้นทั้งระบบ คือ รู้จักจุดมุ่งหมายการสอนเรื่องวิชานั้นๆ ว่ามีความหมายความจำเป็นต่อผู้เรียนอย่างไร ทำไมจึงต้องสอน สามารถใช้วิธีการสอน สื่อการสอน หนังสือเรียน แบบฝึกหัด สามารถวัดผลและประเมินผล เพื่อพิจารณาพฤติกรรมของผู้เรียนว่าได้เปลี่ยนแปลงไปตามจุดมุ่งหมายหรือไม่
การพัฒนาหลักสูตร จำเป็นต้องมีการดำเนินงานเป็นระเบียบแบบแผนต่อเนื่องกันไป การวางแผนจุดมุ่งหมายในการดำเนินงานนี้จะต้องคำนึงถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาหลักสูตรว่าจะเริ่มต้นที่ใดก่อน และดำเนินการอย่างไรจึงจะเป็นการพัฒนาหลักสูตรที่ได้สร้างขึ้นมาใหม่อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าหลักสูตรเดิม ต้องคำนึงถึงการดำเนินงานวิธีการต่างๆ รวมทั้งหลักการและแนวปฏิบัติเพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการฝึกอบรมครูประจำการให้เข้าใจในหลักสูตรใหม่รวมทั้งทักษะในด้านต่างๆ และต้องคำนึงถึงประโยชน์ในด้านการพัฒนาจิตใจและทัศนคติของผู้เรียนด้วย ต้องได้รับความร่วมมือและการประสานงานอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในทางด้านทางด้านหลักสูตรทุกๆ ด้าน
ระดับประถมศึกษา  การพัฒนาหลักสูตรในระดับนี้เน้นการพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักตนเอง ชุมชน และสังคม โดยเชื่อว่าหากพัฒนาตนแล้วรู้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม สามารถอ่านออก เขียนได้คำนวณได้ ซึ่งนับว่าเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในอนาคต ผู้เรียนรู้จักรักและเข้าใจในธรรมชาติ สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักรักษาสุขภาพอนามัยส่วนตัวและทำความเข้าใจสุขพลานามัยส่วนร่วมแล้ว ย่อมรู้จักรักทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดจิตภาพต่อการดำรงชีวิตร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข และคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดโยชน์คุ้มค่า วิเคราะห์เหตุผลและเสนอแนวทางแก้ปัญหาของตนเองและครอบครัว รักการอ่านและแสวงหาความรู้อยู่เสมอทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น รักการทำงาน และทำงานเป็น รู้เข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่บ้าน สามารถปฏิบัติตนตามบทบาทหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของบ้านตลอดจนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
              ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  การพัฒนาหลักสูตรในระดับนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รู้จักรักและแสวงหาความรู้ กำแนวทางที่เหมาะสมกับตนในการทำประโยชน์ให้แก่สังคม มีความรู้และทักษะในวิชาสามัญ  เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based society) และติดตามความเจริญก้าวหน้าวิทยาการต่างๆ รู้จักรักและเอาใจใส่ในสุขภาพของตน บุคคลรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างสุขภาพอนามัยส่วนตน และชุมชน  ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมพัฒนาการด้านต่างๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผู้เรียนสามารถเสนอแนะทางเลือกอย่างหลากหลายในการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ ช่วยเหลือผู้อื่น ปรับปรุงการปฏิบัติงานอยู่เสมอ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รักการทำงานและรู้กระบวนการจัดการ เข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงสังคมในชุมชน สามารถเสนอแนวทางการพัฒนาชุมชนภูมิใจในการปฏิบัติตนตามบทบาทหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีในชุมชน สิ่งแวดล้อมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจคุณค่าตนเอง วัฒนธรรมท้องถิ่นและชุมชน ตลอดจนเกิดความรู้สึกรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
              ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  การพัฒนาหลักสูตรในระดับนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือทำประโยชน์ให้สังคมตามความสามารถของตน มีความรู้และทักษะในวิชาสามัญเฉพาะด้านและรอบรู้ทันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งเสริมการอนามัยชุมชนและการสร้างเสริมสุขภาพ วางแนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมได้ ช่วยเหลือทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ใช้แนวทางและวิธีการใหม่ๆในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รักการทำงานมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต เข้าใจสภาพและการเปลี่ยนแปลงของสังคมในประเทศและโลกมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศและเข้าใจร่วมกิจกรรมการพัฒนาสังคมตามบทบาทหน้าที่ของตนตลอดจนอนุรักษ์และส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของประเทศ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นตามแนวทางประชาธิปไตย
              การที่จะช่วยให้ผู้สอนเกิดความชำนาญ และมั่นใจในการใช้หรือพัฒนาหลักสูตรนั้นควรจะมีบริการช่วยผู้สอนให้คำปรึกษาหรือวิธีสอนในการจัดบริการหลักสูตรนี้ ซึ่งจะช่วยผู้สอนในการพัฒนาหลักสูตรในการนำหลักสูตรไปใช้โดยเป็นไปอย่างมีเหตุผล การพัฒนาหลักสูตรจะเกิดขึ้นเมื่อมีวิทยาการต่างๆ ของสังคมและของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบาย ปรัชญา และแนวทางการพัฒนาการศึกษา

Ø สรุป(Summary)
การพัฒนาหลักสูตรเป็นการปรับปรุงแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ในการพัฒนาหลักสูตรนั้นต้องคำนึงถึงสังคม ปรัชญาการศึกษา และผู้เรียน ตลอดจนกระบวนการเรียนรู้ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาหลักสูตรจะต้องประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันนับแต่นักการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย ผู้บริหาร ครูผู้สอนนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และนักพัฒนาหลักสูตรที่จะให้การหลักสูตรดำเนินไปจนบรรลุผลสูงสุด
ทฤษฎีหลักสูตรที่ได้มาจากศาสตร์สาขาต่างๆ ได้ถูกรวบรวมเป็นองค์รวมเป็นชุดของหลักการต่างๆ เพื่อ อธิบายเหตุผลการได้มาขององค์ความรู้ การรักษาไว้และการเรียกใช้องค์ความรู้ในแต่ละบุคคลได้อย่างไร ทฤษฎีหลักสูตรเปิดโอกาสให้นักพัฒนาหลักสูตรกำหนดเบ้าหลอมผู้เรียนและกำหนดคำทำนายเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นแนวทางช่วยให้สามารถพัฒนาหลักสูตร การนำหลักวิชา ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน  เทคนิค และวิธีการต่างๆ วิธีการที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ และทำให้นักเรียนบรรลุตามจุดประสงค์ในรายวิชาอย่างมีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์

Ø ตรวจสอบทบทวน(Self-Test)
1.  ทฤษฎีหลักสูตร และทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
2.  การพัฒนาหลักสูตรในแง่ของปรัชญา ปรัชญาใดที่สมควรนำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยเหตุผลใด

Ø กิจกรรม(Activity)
1. สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง  นิยาม ความหมาย : ทฤษฎี ทฤษฎีหลักสูตร ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตร
2. ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ “การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีหลักสูตร” แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนนักศึกษา หรือผู้รู้เกี่ยวกับ ทฤษฎีทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร และการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนในสาขาวิชาเอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น